ผู้ที่มีความดันต่ำอาจเคยได้ยินความเชื่อที่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้ความดันสูงขึ้นได้ แต่แท้จริงแล้ว เหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่าง ๆ นั้นส่งผลต่อความดันโลหิตของคนเราอย่างไร เป็นทางออกสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันต่ำจริงหรือไม่
ดื่มหรือไม่ดื่ม แบบไหนดีต่อภาวะความดันโลหิตต่ำ
เมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย บางส่วนจะถูกส่งตรงเข้าสู่หลอดเลือดและสมองทันที ต่างจากอาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่นที่ต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างเป็นขั้นตอน แอลกอฮอล์จึงออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและหลอดเลือดโดยตรง ส่งผลให้สมองสั่งงานช้าลง กระตุ้นการสูบฉีดเลือด หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ และความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราว กลายมาเป็นความเชื่อที่ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยรักษาภาวะความดันต่ำที่ไม่รุนแรงได้
สำหรับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีงานวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงต่อโรคความดันสูงระยะแรกเริ่มได้ โดยวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละประมาณ 5 หน่วยขึ้นไป มีค่าความดันโลหิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราว และมีแนวโน้มเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย แต่พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อยถึงปานกลางทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงได้
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบกลไกที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การนอน การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ เพื่อการรักษาที่ตรงจุดและได้ผล แพทย์จะพิจารณาสาเหตุเหล่านี้ พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก เป็นต้น ไม่แนะนำให้รักษาภาวะความดันต่ำด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทุกชนิดล้วนเป็นโทษต่อร่างกาย หากดื่มมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยเฉพาะผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น
ดื่มแอลกอฮอล์แค่ไหนจึงจะพอดี
การดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในปริมาณมากล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากรู้จักดื่มในปริมาณพอดีอาจช่วยชะลอการเกิดปัญหาสุขภาพบางประการได้ โดยสามารถคำนวณปริมาณที่เหมาะสมตามหน่วยการดื่มมาตรฐาน ดังนี้
- ผู้ชายอายุต่ำกว่า 65 ปี ไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วยมาตรฐานต่อวัน
- ผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้หญิงทุกวัย ไม่ควรดื่มเกิน 1 หน่วยมาตรฐานต่อวัน
*ค่าประมาณของ 1 หน่วยมาตรฐานเทียบเท่ากับเบียร์ 400 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ประมาณ 40 มิลลิลิตร
นอกจากนี้ อีกวิธีที่ช่วยประเมินปริมาณการดื่มที่เหมาะสมได้ คือการคำนวนค่า ABV (Alcohol By Volume) จากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนั้น ๆ โดยนำตัวเลข ABV คูณด้วยปริมาตรเครื่องดื่ม และหารด้วย 1,000 เช่น เครื่องดื่มปริมาณ 600 มิลลิลิตร มีค่า ABV เป็น 5% เมื่อคำนวนจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 3 หน่วย ซึ่งการดื่มในปริมาณที่พอดีสำหรับผู้ชายและผู้หญิงคือไม่เกิน 14 หน่วยต่อสัปดาห์ หากคำนวณตามวิธีนี้
ในปัจจุบันมีโปรแกรมอัตโนมัติตามอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้คำนวณหน่วยการดื่มแอลกอฮอล์ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่กล่าวมาในเบื้องต้นเป็นเพียงเกณฑ์บอกปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเสมอไป เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ อายุผู้ดื่ม ความเสี่ยงด้านสุขภาพรายบุคคล ความถี่ในการดื่ม เป็นต้น
แม้ว่าแอลกอฮอล์นั้นอาจมีประโยชน์ในบางแง่มุม แต่คนส่วนใหญ่ขาดการควบคุมและดื่มในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมักส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าได้รับผลดี การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้นก็เช่นกันไม่ใช่วิธีรักษาที่ถูกต้อง ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีเป็นดีที่สุด
รับมือกับความดันต่ำอย่างไรในเบื้องต้น
ผู้ที่มีความดันต่ำในระดับไม่รุนแรงควรดูแลสุขภาพตนเองในเบื้องต้นตามคำแนะนำ ดังนี้
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ร่างกายขับปัสสาวะมากขึ้นและเกิดการสูญเสียน้ำ ทั้งยังกระทบต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดในหลอดเลือดและป้องกันภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรเลือกรับประทานอาหารหลากหลายประเภท เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเน้นธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน บางรายอาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมเพิ่มเล็กน้อย เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ
- แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อย่อยและลดแป้ง ควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละหลายมื้อแทนอาหารมื้อใหญ่ และจำกัดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น มันฝรั่ง ข้าว ขนมปัง เพื่อป้องกันความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้มีความดันต่ำบางคนดื่มเครื่องดื่มที่คาเฟอีนเล็กน้อยร่วมกับมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
- ควรเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าทางช้า ๆ การเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วขณะทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงกว่าเดิม ควรค่อย ๆ เปลี่ยนอิริยาบถอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ทัน และไม่ควรนั่งไข้วขานาน ๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
credit : พบแพทย์
No Comments