มันเทศ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และคำแนะนำในการบริโภค
มันเทศ อุดมไปด้วยแหล่งอาหารสำคัญ เช่น คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามิน เอ วิตามิน ซี แคลเซียม โพแทสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระเบต้าแคโรทีน ทำให้มีความเชื่อว่า มันเทศอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และอาจรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิดได้
มันเทศเป็นพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดิน มีรสหวาน มีเนื้อในหลากสีสันตามสายพันธุ์ เช่น สีส้ม สีขาว สีแดง สีเหลือง หรือสีม่วง เป็นต้น ในมันเทศมีเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลได้ โดยมันเทศจะมีรสหวานยิ่งขึ้นเมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานหรือนำไปปรุงอาหาร วิธีประกอบอาหารส่วนใหญ่ที่คนนิยม คือ นำไปต้ม นึ่ง อบ หรือทอด
ด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย ผู้คนจึงเชื่อว่ามันเทศอาจมีผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เป็นที่มาของการศึกษาทดลองถึงประสิทธิภาพต่าง ๆ ของมันเทศ ดังต่อไปนี้
รักษาภาวะขาดวิตามิน เอ
วิตามิน เอ มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคและอาการบางชนิด หากร่างกายขาดวิตามิน เอ อาจเสี่ยงเผชิญภาวะอาการป่วยที่เป็นอันตรายได้ ในมันเทศอุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามิน เอ โดยเฉพาะมันเทศสีเหลือง การรับประทานมันเทศ 100 กรัม ทำให้ได้รับวิตามินเอในปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันอย่างเพียงพอแล้ว
จากข้อมูลดังกล่าว จึงมีงานทดลองที่พิสูจน์ประสิทธิผลการบริโภคมันเทศต่อภาวะขาดวิตามินเอ ผลการวิจัยพบว่า การรับประทานมันเทศและอาหารที่มีวิตามินเอสูงทุกวันเป็นผลดีต่อผู้ที่มีความเสี่ยงเผชิญภาวะขาดวิตามินเอ ในขณะที่อีกงานค้นคว้าหนึ่งซึ่งทดลองในกลุ่มเด็กอายุ 5-10 ปี พบว่าการบริโภคมันเทศเนื้อสีส้มช่วยเพิ่มระดับวิตามินเอในร่างกายมากกว่ามันเทศเนื้อสีขาว
จากผลการทดลองดังกล่าว อาจสรุปได้ว่าการบริโภคมันเทศช่วยป้องกันภาวะขาดวิตามินเอได้ดี โดยเฉพาะมันเทศเนื้อสีส้ม ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกำลังพัฒนาอาจนำประสิทธิผลในด้านนี้ไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหาร จนพลเมืองต้องเผชิญภาวะขาดสารอาหาร เพื่อบรรเทาและป้องกันภาวะขาดวิตามินเอต่อไป เนื่องจากมันเทศมีวิตามินเอสูง มีราคาถูก และบริโภคง่าย
ป้องกันอาการท้องผูก
หลายคนมีปัญหาท้องผูกจากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต รวมทั้งอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย มันเทศเป็นพืชที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารและน้ำ จึงเชื่อว่าการบริโภคมันเทศอาจช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายและแก้ปัญหาท้องผูกได้ จากงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวลูคีเมียบริโภคมันเทศในระหว่างเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นครั้งแรก ผลการทดลองพบว่ามันเทศช่วยป้องกันอาการท้องผูกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวลูคีเมียเท่านั้น จึงควรมีการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลในด้านนี้ต่อไปในอนาคต
รักษาโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลต่อกระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ และอาจทำให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา เนื่องจากมันเทศมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด จึงเชื่อว่ามันเทศอาจมีประโยชน์ต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ มีงานค้นคว้าในด้านนี้และพบว่า จากการทดลองให้สารสกัดจากมันเทศเนื้อสีขาวในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทั้งก่อนและหลังการให้ยาอินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยลดลง จึงอาจสรุปได้ว่า สารสกัดจากมันเทศสีขาวเป็นประโยชน์ในเชิงการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยการทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป เพื่อประโยชน์ทางการรักษาโรคเบาหวานในอนาคต
รักษาและป้องกันโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็น 1 ในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลก ในมันเทศมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เชื่อว่าอาจช่วยชะลอหรือยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น จึงมีการทดลองนำสารประกอบฟิวแรนจากมันเทศไปรักษาผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma: HCC) ระยะลุกลาม แต่ผลการทดลองพบว่าสารประกอบที่ได้จากมันเทศไม่ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้แต่อย่างใด
ในทางตรงข้าม อีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่า การบริโภคมันเทศอาจช่วยให้ร่างกายปรับฮอร์โมนเพศ ระดับไขมันในเลือด และช่วยต้านสารอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งได้ จึงสรุปได้ว่ามันเทศอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมกับโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะพิสูจน์สมมติฐานด้านประสิทธิภาพของมันเทศต่อการรักษาและป้องกันโรคมะเร็ง จึงควรมีการค้นคว้าต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์
ป้องกันภาวะตับอักเสบ
ตับอักเสบเป็นภาวะอักเสบที่เกิดบริเวณตับ อาจทำให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ และหากตับอักเสบเรื้อรังก็อาจนำไปสู่ภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ มันเทศประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงมีการทดลองให้ชายชาวญี่ปุ่นผู้มีสุขภาพดีอายุ 30-60 ปี ที่ตรวจเลือดแล้วพบเอนไซม์ตับสูงกว่าปกติ ดื่มน้ำมันเทศเนื้อสีม่วงแล้วทดสอบการอักเสบของตับด้วยการตรวจเลือด จากการทดลองพบว่าการบริโภคมันเทศในรูปเครื่องดื่มอาจช่วยลดเอนไซม์ตับซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตับอักเสบได้อย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การวิจัยนี้ทดลองในประชากรบางกลุ่ม และยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดรับรองประสิทธิผลในด้านดังกล่าว จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
ความปลอดภัยในการบริโภคมันเทศ
แม้มันเทศจะเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญ มีรสชาติอร่อย ราคาถูก รับประทานง่าย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ในมันเทศมีสารออกซาเลต (Oxalates) ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดนิ่วในไตได้ นอกจากนั้น ยังเคยมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขไทยว่าด้วยเรื่องสารพิษตกค้างในอาหาร ซึ่งพบว่ามันเทศเป็นหนึ่งในอาหารที่มีสารพิษบางชนิดตกค้างอยู่ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการบริโภคมันเทศ และทำตามคำแนะนำในการบริโภค เช่น
- การเลือกมันเทศ เลือกหัวที่แน่น สีเข้ม มีผิวเรียบ ไม่มีรอยเหี่ยวช้ำ รู หรือรากงอกออกมา เนื้อมันเทศที่หั่นแล้วก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรเลือกมันเทศที่มีรูหรือรอยใด ๆ เพราะร่องรอยเหล่านั้นอาจเป็นสาเหตุทำให้มันเทศเสียรสชาติได้
- การล้างมันเทศ ควรล้างมันเทศให้สะอาด เพื่อกำจัดสารพิษหรือสิ่งตกค้างก่อนนำไปปรุงอาหาร
- การประกอบอาหาร ไม่ควรปอกเปลือกมันเทศออกในขณะทำให้สุก เพราะอาจทำให้สารอาหารที่อยู่บริเวณใกล้กับเปลือกต้องเสียไป และมันเทศมีเปลือกที่ลอกออกได้ง่าย จึงสามารถปอกเปลือกได้ด้วยส้อมหลังจากทำให้สุกแล้ว ทั้งนี้ ไม่ควรนำมันเทศชนิดต่างกันมาประกอบอาหารในเวลาเดียวกัน เพราะมันแต่ละชนิดจะสุกได้ด้วยความร้อนและเวลาที่ต่างกัน และควรรับประทานมันเทศที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
- การเก็บรักษามันเทศ ทำความสะอาดภายนอกของหัวมัน แต่ไม่ควรล้างมันเทศก่อนเก็บ เพราะอาจทำให้เน่าเสียได้ง่าย โดยควรเก็บมันเทศดิบไว้ในที่ที่มีความเย็นประมาณ 12-15 องศาเซลเซียส เพื่อให้มันเทศยังสดใหม่อยู่เสมอ เช่น ตู้เก็บอาหาร ห้องใต้ดิน หรือโรงรถ แต่ไม่ควรเก็บมันเทศไว้ในตู้เย็น เพราะอาจทำให้เนื้อมันเทศแข็งและเสียรสชาติ ทั้งนี้ หากเก็บรักษามันเทศอย่างเหมาะสม อาจทำให้เก็บมันเทศไว้ได้ประมาณ 1 เดือนหรือนานกว่านั้น แต่หากเก็บมันเทศไว้ที่อุณหภูมิห้อง ผู้บริโภคควรปรุงอาหารและรับประทานมันเทศภายใน 1 สัปดาห์หลังซื้อ
credit : เว็บพบแพทย์ pobpad
No Comments