ข้อมูลเบื้องต้น (General Information)
โรคมะเร็ง (Cancer) พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
โรคมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย เรียงจากลำดับแรก 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร
โรคมะเร็งพบบ่อยของหญิงไทย เรียงจากลำดับแรก 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ปากมดลูก ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ รังไข่ เม็ดเลือดขาว ช่องปาก ต่อมไทรอยด์ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งพบบ่อยในเด็กไทย เรียงจากลำดับแรก 4 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง และโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา/Neuroblas toma (มะเร็งของประสาทซิมพาทีติก)
โรคมะเร็งคือ โรคซึ่งเกิดมีเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามและแพร่กระจายได้ทั่วร่างกายส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เหล่านั้นล้มเหลวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก
สัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง
“ปู” เป็นสัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง คำว่า มะเร็ง หรือ Cancer มาจากภาษากรีก คือ Carcinos ซึ่งแปลว่า ปู (Crab) เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีลักษณะลุกลามออกไปจากตัวก้อนเนื้อเหมือนกับขาปูที่ออกไปจากตัวปู ซึ่งคนแรกที่ใช้ศัพท์นี้ คือ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก
เนื้องอก คือ ก้อน ตุ่ม ที่โตขึ้นผิดปกติ เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง
โรคมะเร็ง คือ โรคของเซลล์ ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นก้อนมะเร็งซึ่งสามารถบุกรุก ทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้
โรคมะเร็ง ต่างจากเนื้องอกที่ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็ง โตเร็วลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าหลอดเลือด/กระแสโลหิต/กระแสเลือด และหลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย โดยมักแพร่สู่ปอด ตับ สมอง กระดูก และไขกระดูก ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง
โรคเนื้องอก ได้แก่ มีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่โตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เพียงกดหรือเบียดเมื่อก้อนโตขึ้น ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่แพร่กระจายทางกระอสโลหิต และทางกระแสน้ำเหลือง จึงเป็นโรคที่รักาหายได้โดยเพียงการผ่าตัด
ขบวนการเกิดโรคมะเร็ง
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดเซลล์ปกติก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนมะเร็งต่อไป
สาเหตุของโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายประการ ดังนี้
1. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย
1.1 สารเคมีบางชนิด เช่น
สารเคมีในควันบุหรี่ และเขม่ารถยนต์
สารพิษจากเชื้อรา
สารพิษที่เกิดจากเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอด จนไหม้เกรียม
สีย้อมผ้า
สารเคมีบางชนิดที่เกิดจากขบวนการทางอุตสาหกรรม
1.2 รังสีต่างๆ รวมทั้งรังสีอุลตร้าไวโอเลตในแสงแดด
1.3 การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น
ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งตับ
ฮิวแมน แพพพิโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก
เอบสไตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งโพรงหลังจมูก
เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรัย (Helicobacter Pylori) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะอาหาร
1.4 พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ มีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
2. สาเหตุภายในร่างกาย เช่น
2.1 กรรมพันธ์ที่ผิดปกติ
2.2 ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
2.3 ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
2.4 การระคายเคืองที่เกิดซ้ำๆ เป็นเวลานาน
2.5 ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น
อาการของโรคมะเร็ง
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่างๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม อาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
มีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือ มีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องตัน
มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อยๆ
ไฝ ปาน หูด ที่โตเร็วผิดปกติ หรือ เป็นแผลแตก
หายใจ หรือ มีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
ไอเรื้อรัง หรือ ไอเป็นเลือด
มีเสมหะ น้ำลาย หรือ เสลดปนเลือดบ่อย
อาการของโรคมะเร็ง
อาเจียนเป็นเลือด
ปัสสาวะเป็นเลือด
ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด
ท้องผูก สลับท้องสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือ มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
มีไข้ต่ำๆ หาสาเหตุไม่ได้
มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
มีจ้ำห้อเลือดง่าย หรือ มีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือ แขน/ขาอ่อนแรง หรือ ชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
ปวดหลังเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับ แขน/ขาอ่อนแรง
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยมีหลายวิธี เช่น
การตรวจร่างกายด้วยตนเองและโดยแพทย์
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ
การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การตรวจทางรังสี เช่น การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอ็กซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหารและลำคอ เป็นต้น
การตรวจพิเศษอื่นๆ
ระยะของมะเร็ง
ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 – 4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นอีกเป็น เอ(A) บี (B) หรือ ซี(C) หรือ เป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
ระยะที่ 2 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
ระยะที่ 3 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
ระยะที่ 4 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
การรักษา
การตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้
การผ่าตัด เป็นการเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป
รังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
เคมีบำบัด เป็นการให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
ฮอร์โมนบำบัด เป็นการใช้ฮอร์โมน เพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
การรักษาแบบผสมผสาน เป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่ขะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยุ่กับระยะและความรุนแรงของโรค
การรักษาโรคมะเร็งอาจเป็นวิธีใดวิธีเดียว หรือ หลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับ
ระยะโรค
ชนิดของเซลล์มะเร็ง
เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด
ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัดยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่
ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
อายุ
สุขภาพผู้ป่วย
โรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ทั้งนี้ โอกาสรักษาหายขึ้นกับ
ระยะโรค
ชนิดเซลล์มะเร็ง
ผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าผ่าตัดได้ สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดหรือไม่
มะเร็งเป็นชนิดดื้อต่อ รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ยารักษาตรงเป้าหรือไม่
อายุ
สุขภาพผู้ป่วย
อนึ่ง ในภาพรวมโดยประมาณ อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี (โอกาสรักษามะเร็งได้หาย) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง คือ
โรคระยะ 0 90 – 95 %
โรคระยะที่ 1 70 – 90 %
โรคระยะที่ 2 70 – 80 %
โรคระยะที่ 3 20 – 60 %
โรคระยะที่ 4 0 – 15 %
ทางเลือกอื่น (Alternatives)
เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่มีมะเร็งบางตำแหน่งก็สามารถทราบสาเหตุนำหรือสาเหตุร่วม ซึ่งอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทุกคนควรจะต้องตรวจ สำรวจร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าพบอาการผิดปกติก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้ เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้ มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่นๆ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือการตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้น หรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง
ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งที่สำคัญ คือ
กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/การตรวจสุขภาพประจำปี
หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
สัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่ควรรีบมาพบแพทย์
มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป
มีก้อนหรือตุ่ม เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
มีแผลเรื้อรัง
มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ
No Comments