มะเร็ง เป็นภาวะที่เซลล์ภายในร่างกายแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ โดยมะเร็งจะเริ่มเกิดบริเวณอวัยวะหนึ่งในร่างกายก่อน จากนั้น เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ และสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ซึ่งการแพร่กระจายลักษณะนี้เรียกว่า มะเร็งระยะแพร่กระจาย หรือมะเร็งระยะลุกลาม
จากสถิติการจัดลำดับสาเหตุการตายโดยองค์การอนามัยโลกปี 2558 เผยว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการตายทั่วโลกเป็นอันดับที่ 2 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 8.8 ล้านคน มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ ส่วนมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งกระเพาะอาหาร
ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมการแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยได้เผยสถิติผู้เสียชีวิตในปี 2559 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ได้แก่ โรคมะเร็ง โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 60,000 คน และมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากสถิติชี้ว่า ผู้ชายไทยเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าผู้หญิงด้วย
ส่วนอันดับของมะเร็งที่เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่
- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งช่องปาก
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการของมะเร็ง
อาการของมะเร็งแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มะเร็งเริ่มก่อตัว และอวัยวะที่มะเร็งลุกลามไปถึง เช่น หากเกิดมะเร็งที่ไตหรือกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจพบเลือดในปัสสาวะ หากเกิดมะเร็งที่เต้านมหรือผิวหนัง ผู้ป่วยอาจคลำเจอก้อนเนื้อผิดปกติ หรือหากเกิดมะเร็งที่ลำไส้หรือทวารหนัก อาจมีระบบขับถ่ายผิดปกติ เป็นต้น
หากมะเร็งแพร่กระจายลุกลาม ผู้ป่วยอาจมีอาการในบริเวณใกล้เคียงกับอวัยวะแรกเริ่มที่มะเร็งก่อตัว หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่มะเร็งลุกลามไป ทำให้อวัยวะเหล่านั้นทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ อาการของมะเร็งแต่ละจุดจะมีความรุนแรงต่างกัน มะเร็งบางชนิดอาจยังไม่แสดงอาการจนกว่าเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ดังนั้น หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
สาเหตุของมะเร็ง
มะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุตามแต่ชนิดของมะเร็งนั้น ๆ
การวินิจฉัยมะเร็ง
แพทย์อาจเริ่มวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงอาจส่งตรวจทางปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจอุจจาระ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจบ่งชี้ถึงมะเร็ง และหากสงสัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เอกซเรย์
- ซีที สแกน
- เอ็มอาร์ไอ
- อัลตราซาวด์
- การส่องกล้องด้วยใยแก้วนำแสง
นอกจากนี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอกที่น่าสงสัย เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์ หากพบว่าเนื้องอกเหล่านั้นเป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ตามดุลยพินิจ เพื่อตรวจหาตำแหน่งและขนาดของมะเร็งต่อไป
การรักษามะเร็ง
การรักษามะเร็งอาจมีหลายลักษณะแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของแต่ละขั้นตอน เช่น การรักษาขั้นต้น การรักษาหลังการผ่าตัด การฟื้นฟูร่างกาย และการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งวิธีที่มักใช้เพื่อรักษามะเร็ง ได้แก่ เคมีบำบัด รังสีบำบัด และการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังวิธีอื่น ๆ รักษามะเร็งด้วยเช่น การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ภูมิคุ้มกันบำบัด ฮอร์โมนบำบัด การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง และการรักษาอาการทางคลินิกอื่น ๆ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็ง
ทั้งโรคมะเร็งและขั้นตอนการรักษามะเร็งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย เช่น ปวดเมื่อย อ่อนล้าหมดแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก น้ำหนักลด สารเคมีในร่างกายเปลี่ยนแปลง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ รวมถึงมะเร็งแพร่กระจายลุกลาม และอาจกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำหลังรับการรักษาไปแล้ว
การป้องกันมะเร็ง
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งได้อย่างสมบูรณ์ แต่อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เลิกบุหรี่
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง
- ฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันไวรัสต่าง ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็ง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเอชพีวี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดมากเกินไป
- บริโภคอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนัก
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
No Comments